ฝันของเด็กจากภูสูงได้เติมเต็ม

ความยากจนของครอบครัวสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กน้อยจากอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าสักวันเธอจะเติบโตขึ้นเป็นพยาบาล เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้คนที่ความเจริญเอื้อมเข้าไปไม่ถึง แล้วฝันนั้นของเธอคือความจริงในวันนี้

นางสาวอัมพิกา ภูคำ - จังหวัดแม่ฮ่องสอน - ปริญญาตรี พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แม่ริม เชียงใหม่ - พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ละนา
นางสาวอัมพิกา ภูคำ
– จังหวัดแม่ฮ่องสอน
– ปริญญาตรี พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แม่ริม เชียงใหม่
– พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ละนา

ชีวิตในวัยเด็กของอัมพิกาเกิดและโตในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เธอเห็นพ่อและแม่ซึ่งเป็นชนเผ่าไทยใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักในไร่ เพื่อแลกกับค่าแรงไม่เกิน 100 บาทต่อวัน

เมื่อพ่อพาอัมพิกาไปฝากเรียนที่โรงเรียนประถม เธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน จึงได้รับการคัดเลือกให้รับทุนมูลนิธิบางกอกโพสต์ ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

อัมพิกาตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่เด็กว่าเธอจะเป็นพยาบาล เพราะอาชีพนี้คงจะช่วยผ่อนปรนความยากจนสำหรับครอบครัวและยังได้ช่วยเหลือผู้อื่น

ความตั้งใจอย่างหนักส่งผลให้เธอสามารถสอบเข้าเรียนพยาบาลได้ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมชนนี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เธอเข้าทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่แม่ฮ่องสอนบ้านเกิด

“ทุนที่ได้รับจากมูลนิธิบางกอกโพสต์เป็นเวลา 15 ปี เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตเด็กชาวเขาอย่างดิฉัน ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้เรียนสูงๆ แต่ขณะนี้ดิฉันมีงานทำ สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว และได้ทำงานช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาที่ห่างไกล”

โรงพยาบาลที่อัมพิกาประจำอยู่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาที่ต้องดูแลประชาชนกว่า 5000 คนซึ่งประกอบด้วยชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง และอาข่า อัมพิกาเป็นพยาบาลเพียงคนเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คน พนักงานธุรการ 1 คน และผู้ช่วยทันตแพทย์อีก 1 คนเท่านั้น

อัมพิกากล่าวว่า การดำเนินชีวิตของคนแถบนี้ มักนิยมให้เด็กผู้หญิงแต่งงานเร็วตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดการหย่าร้าง และละทิ้งลูกให้เป็นภาระเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย นำมาซึ่งปัญหาสังคม เด็กหญิงที่หย่าร้างมักจบลงด้วยการเป็นโสเภณี ส่วนเด็กผู้ชายก็พึ่งยาเสพติด

“ดิฉันอยากให้เด็กในหมู่บ้านได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับดิฉัน เพราะการศึกษาช่วยลดภาระของสังคม และหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดิฉันหวังว่ามูลนิธิจะยังคงให้ความอนุเคราะห์แก่นักเรียนที่ยากจน และพยายามชักชวนให้เด็กเหล่านั้นเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อที่เขาจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”