การเข้าช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คือการให้กับสังคม

ตลอดระยะเวลา 34 ปี ของการดำเนินงานของมูลนิธิบางกอกโพสต์ ทางมูลนิธิได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนและนักศึกษาในระดับต่างๆไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 2,676 ทุน (หนึ่งทุนหมายถึงค่าใช้จ่ายสำหรับหนึ่งปีการศึกษา)

17

การให้ทุนเป็นการให้ต่อเนื่องจนกว่าเด็กนักเรียนจะเรียนจบชั้นสูงสุด ผู้ได้รับทุนไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง แต่เป็นผู้มีฐานะยากจนและมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่อยากจะศึกษา ทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เพียงขอให้ผู้รับทุนกลับไปทำงานในจังหวัดบ้านเกิด เพื่อช่วยพัฒนาถิ่นที่อยู่ของตน

จนถึงปัจจุบัน จำนวนเด็กนักเรียนที่เคยรับทุนและกำลังรับทุนอยู่ รวมแล้วมากกว่า 600 คน

มีผู้จบการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 216 ราย แยกเป็นระดับปริญญาเอก 1 ราย ปริญญาโท 2 ราย ปริญญาตรี 94 ราย อาชีวศึกษา 66 ราย มัธยมปลาย 37 ราย และมัธยมต้น 21 ราย

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของมูลนิธิบางกอกโพสต์ ที่ได้ช่วยสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากการศึกษา


นางสาวอัมพิกา ภูคำ: ฝันของเด็กจากภูสูงได้เติมเต็ม

ความยากจนของครอบครัวสร้างแรง บันดาลใจให้เด็กน้อยจากอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าสักวันเธอจะเติบโตขึ้นเป็นพยาบาล เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้คนที่ความเจริญเอื้อมเข้าไปไม่ถึง แล้วฝันนั้นของเธอคือความจริงในวันนี้

นางสาวอัมพิกา ภูคำ - จังหวัดแม่ฮ่องสอน - ปริญญาตรี พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แม่ริม เชียงใหม่ - พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ละนา
นางสาวอัมพิกา ภูคำ
– จังหวัดแม่ฮ่องสอน
– ปริญญาตรี พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แม่ริม เชียงใหม่
– พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ละนา

ชีวิต ในวัยเด็กของอัมพิกาเกิดและโตในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เธอเห็นพ่อและแม่ซึ่งเป็นชนเผ่าไทยใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักในไร่ เพื่อแลกกับค่าแรงไม่เกิน 100 บาทต่อวัน

เมื่อพ่อพาอัมพิกาไปฝากเรียน ที่โรงเรียนประถม เธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน จึงได้รับการคัดเลือกให้รับทุนมูลนิธิบางกอกโพสต์ ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

อัมพิกาตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่เด็กว่าเธอจะเป็นพยาบาล เพราะอาชีพนี้คงจะช่วยผ่อนปรนความยากจนสำหรับครอบครัวและยังได้ช่วยเหลือผู้อื่น

ความ ตั้งใจอย่างหนักส่งผลให้เธอสามารถสอบเข้าเรียนพยาบาลได้ที่วิทยาลัยพยาบาล บรมชนนี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เธอเข้าทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่แม่ฮ่องสอนบ้านเกิด

“ทุนที่ได้รับจากมูลนิธิบางกอกโพสต์เป็นเวลา 15 ปี เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตเด็กชาวเขาอย่างดิฉัน ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้เรียนสูงๆ แต่ขณะนี้ดิฉันมีงานทำ สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว และได้ทำงานช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาที่ห่างไกล”

โรงพยาบาลที่อัมพิกาประจำอยู่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาที่ต้องดูแลประชาชนกว่า 5000 คนซึ่งประกอบด้วยชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง และอาข่า อัมพิกาเป็นพยาบาลเพียงคนเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คน พนักงานธุรการ 1 คน และผู้ช่วยทันตแพทย์อีก 1 คนเท่านั้น

อัมพิกากล่าวว่า การดำเนินชีวิตของคนแถบนี้ มักนิยมให้เด็กผู้หญิงแต่งงานเร็วตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดการหย่าร้าง และละทิ้งลูกให้เป็นภาระเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย นำมาซึ่งปัญหาสังคม เด็กหญิงที่หย่าร้างมักจบลงด้วยการเป็นโสเภณี ส่วนเด็กผู้ชายก็พึ่งยาเสพติด

“ดิฉันอยากให้เด็กในหมู่บ้านได้รับการ ศึกษาเช่นเดียวกับดิฉัน เพราะการศึกษาช่วยลดภาระของสังคม และหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดิฉันหวังว่ามูลนิธิจะยังคงให้ความอนุเคราะห์แก่นักเรียนที่ยากจน และพยายามชักชวนให้เด็กเหล่านั้นเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อที่เขาจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”


นายฐันดร ภาคมีนาคม: เส้นทางชีวิตที่เลือกแล้ว

ความทรงจำไม่งดงามในอดีตไม่ได้เป็น อุปสรรคสำหรับเด็กจากศรีษะเกษ ฐันดรได้เป็นบุรุษพยาบาลตามความตั้งใจกับความช่วยเหลือเสมือนเป็นผู้ปกครอง และเขาได้ตอบแทนด้วยงานอาสาสมัครช่วยเหลือพระในชนบท

นายฐันดร ภาคมีนาคม - จังหวัดศรีสะเกษ - ปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น - พยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายฐันดร ภาคมีนาคม
– จังหวัดศรีสะเกษ
– ปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– พยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับ คนส่วนใหญ่ชีวิตวัยเด็กคือชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แต่ไม่ใช่กับฐันดรและพี่ชายร่วมมารดา มารดาของพวกเขาทิ้งให้ทั้งสองอาศัยอยู่กับป้าที่มีครอบครัวใหม่ เมื่อฐันดรอายุ 10 ขวบ ป้าตัดสินใจไปทำงานที่พัทยา เด็กทั้งสองจึงต้องอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลในจังหวัดศรีสะเกษเพียง ลำพัง

สำหรับใครหลายๆคน ยาเสพติดคือทางออกของปัญหา ทว่าด้วยความตั้งใจจริงของฐันดร เขาทิ้งความทรงจำที่ไม่งดงามไว้ข้างหลังและเดินหน้าไปสู่อนาคตที่เขาเลือก เอง

ฐันดรมีความฝันที่จะเข้าเรียนในสายการแพทย์ แต่ความจริงที่ว่าค่าเล่าเรียนของอาชีพนี้ไม่ใช่น้อยๆ ทำให้เขาต้องพักความฝันนั้นไป และเห็นว่าอาชีพบุรุษพยาบาลก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เขาจึงสมัครเรียนพยาบาลที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปัญหาทางการเงินยังคง เป็นเรื่องใหญ่ ในปี พ.ศ.2554 ฐันดรได้รับเลือกให้ได้รับทุนจากมูลนิธิบางกอกโพสต์จนเรียนจบ ปัจจุบันเขาทำงานในหอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัย ขอนแก่น

“ผมต้องขอบคุณมูลนิธิบางกอกโพสต์ที่ให้ทุนการศึกษากับเรา ไม่เพียงแค่การสนับสนุนทางการเงิน แต่ความใส่ใจทั้งเรื่องชีวิต การติดตามผลการศึกษา และการให้คำแนะนำต่างๆมีค่ามากสำหรับผม ผมรู้สึกเหมือนได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง” ฐันดรกล่าว

ทุกวันนี้ ฐันดรเลือกที่จะทำงานอาสาสมัครเพื่อให้บริการทางการพยาบาลให้กับพระที่อยู่ ห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม เหมือนกับที่เขาเคยได้รับโอกาสจากมูลนิธิบางกอกโพสต์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

นอกเหนือจากการทำงาน ปัจจุบันฐันดรคอยดูแลป้าที่กลับมาอาศัยอยู่ที่บ้าน รวมไปถึงต้องดูแลพี่ที่ติดยาเสพติด

ฐันดรเป็นผู้ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าวัยเด็กที่ไม่สวยงามไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จแต่อย่างใด


นายนัฐภูมิ แสงประสิทธิ์: อุปสรรคคือแรงผลักดัน

หากไม่ใช่เพราะทุนการศึกษาและความไม่ ย่อท้อ ชีวิตนัฐภูมิอาจจบลงตรงอาชีพขายล็อตเตอรี่ แทนที่จะได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี และเขายังได้นำความรู้และบทเรียนที่ได้มาไปช่วยเหลือผู้อื่นที่พิการทางสาย ตาเสมอมา

นายนัฐภูมิ แสงประสิทธิ์ - จังหวัดกรุงเทพมหานคร - ปริญญาตรี สาขาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - พนักงาน บริษัทแอดวานส์ คอนแทค เซ็นเตอร์
นายนัฐภูมิ แสงประสิทธิ์
– จังหวัดกรุงเทพมหานคร
– ปริญญาตรี สาขาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– พนักงาน บริษัทแอดวานส์ คอนแทค เซ็นเตอร์

นัฐ ภูมิเป็นผู้พิการทางสายตา ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมกับเกียรตินิยมอันดับสอง อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าเขาไม่อาจมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิบางกอกโพสต์

สมัยที่นัฐภูมิเป็น เด็กเขาอาศัยอยู่กับตายายที่มีอาชีพทำสวน ส่วนแม่เป็นลูกจ้างทั่วไป รายได้ของครอบครัวจึงอยู่ในระดับต่ำ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษา นัฐภูมิเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่บ้านเกิด จึงไม่เคยต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน แต่เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัยเงินทุนกลับกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ

คุณครู ในระดับมัธยมเป็นผู้สนับสนุนออกค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยในเทอมแรก แต่ระหว่างนั้นนัฐภูมิไม่เคยละทิ้งความกังวลใจเรื่องค่าเล่าเรียนได้ลง ทุกครั้งที่เขามีเวลาว่าง เขาจะลงไปขายล็อตเตอรี่ที่กรุงเทพฯ เพราะนี่คือหนทางเดียวที่พอจะทำให้นัฐภูมิมีหวังในการศึกษาต่อ

วัน หนึ่งนัฐภูมิก็ได้รับข่าวดีว่าทางมูลนิธิจะมอบทุนให้เขาเรียนจบปริญญาตรี “ตอนนั้นเราดีใจมาก เหมือนปัญหาทุกอย่างมันมีทางออก เรื่องเรียนเราไม่ห่วงอยู่แล้ว เราเรียนได้ แต่ปัจจัยที่จะทำให้เราไปไม่รอดคือเรื่องเงิน เราเคยคิดว่าถ้าเราเรียนไม่จบ เราคงต้องไปขอทาน ไม่ก็ขายล็อตเตอรี่”

“ขอบคุณมูลนิธิและผู้สนับสนุน ทุกท่านที่เป็นเหมือนผู้ให้โอกาสให้เรายืนด้วยขาของตัวเองได้ เพราะถึงแม้เราจะมีความสามารถ แต่ถ้าเราไม่มีโอกาส เราก็ทำอะไรไม่ได้”

ทุน ที่นัฐภูมิได้รับเป็นทุนให้เปล่า แต่ความรู้สึกของการเป็นผู้ได้รับโอกาสทำให้เขายังรู้สึกค้างคาใจอยู่เสมอ ว่าเขาควรจะทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบแทนสังคม

“เราเห็นคนที่เขาทำเพื่อ เรา ให้ทุนเราโดยไม่ได้อะไรตอบแทน เลยทำให้เรารู้สึกว่าอยากเป็นแบบนั้นบ้าง เราใช้วิธีเอาความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ที่เรามีไปสอนเพื่อนๆ พี่น้องที่ตาบอดฟรี ในทุกๆปี”

“เรามองว่าอุปสรรคต่างๆ เป็นแรงผลักให้เราต้องทำได้ดีขึ้น และหากว่ามีโอกาสเข้ามาในชีวิต เราต้องคว้ามันไว้และเชื่อว่าเราต้องทำได้ ถึงแม้อุปสรรคทางร่างกายจะทำให้เราไม่เหมือนคนปกติร้อยเปอร์เซนต์ แต่เราก็ต้องไม่ลืมถามตัวเองว่าเราพยายามมากพอแล้วหรือยัง”


นายวรุตม์ ใจปิน: สิ่งที่ได้รับและการคอบแทน

วรุตน์ได้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญาโท สาขากีฏวิทยา และในวันนี้เด็กจากชนบทได้ใช้ความรู้ที่ได้มาเพื่อพัฒนาชีวิตของเกษตรกร เพื่อจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

นายวรุตม์ ใจปิน - จังหวัดเชียงใหม่ - ปริญญาโท สาขากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ - พนักงานบริษัท บริษัทสหการเกษตรไทยรุ่งเรือง จำกัด
นายวรุตม์ ใจปิน
– จังหวัดเชียงใหม่
– ปริญญาโท สาขากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่
– พนักงานบริษัท บริษัทสหการเกษตรไทยรุ่งเรือง จำกัด

วรุฒน์ ต้องกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แต่เขากลายเป็นนักศึกษาคนแรกๆของมูลนิธิบางกอกโพสต์ที่ได้รับทุนการศึกษา และเรียนจนจบปริญญาโท

วรุฒน์มาจากครอบครัวชาวนา ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เขาสามารถสอบเข้าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเรียนจนจบระดับปริญญาตรี และปริญญาโท สาขากีฏวิทยา เมื่อปี พ.ศ.2556

ปัจจุบัน วรุฒน์เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน และการใช้ยาฆ่าแมลงแก่สหกรณ์การเกษตรและชาวไร่ชาวนาทั่วไป

วรุฒน์ได้ ทดลองทำแปลงปลูกพืชสวนผสม โดยเฉพาะมะนาวนอกฤดู ที่อำเภอสันป่าตองบ้านเกิด เนื่องจากเห็นชาวบ้านในละแวกนั้น ทุกครอบครัวปลูกลำไยกันเพียงอย่างเดียว

“ผมต้องการให้ชาวสวนในละแวกบ้านเห็นว่า ควรปลูกพืชหลายๆอย่าง เพื่อไม่ให้ผลิตผลล้นตลาด ซึ่งนำไปสู่ราคาตกต่ำ”

ชีวิตของวรุฒน์ในขณะนี้สบายพอควร บริษัทมีรถให้ใช้สำหรับเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆทั่วภาคเหนือตอนล่าง

“ผม ขอขอบคุณที่มูลนิธิบางกอกโพสต์ได้ให้โอกาสแก่เด็กบ้านนอกธรรมดาๆคนหนึ่ง มีโอกาสเรียนเรียนจนจบปริญญาโท และสามารถหางานที่ดีได้ผมขอให้คำแนะนำแก่รุ่นน้องๆว่า ควรตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในวิชาที่ตนชอบ และรู้จักที่จะปรับสิ่งที่เล่าเรียนให้เข้ากับชีวิตและการทำงาน”


นายสหรัฐ เกื้อกิจ: เรียนสูงเพื่อส่งเสริมสังคม

สหรัฐมุ่งมั่นว่าอยากเรียนให้สูงๆ เพื่อสร้างโอกาสได้ดูแลครอบครัวที่ยากจน บทความที่เขียนมาทำให้เด็กหนุ่มจากมหาชัยได้สมหวัง โดยที่ไม่ลืมว่าชีวิตต้องช่วยเหลือชุมชนและสังคมเท่าที่จะทำได้

นายสหรัฐ เกื้อกิจ - จังหวัดสมุทรสาคร - ปริญญาตรี สาขาประมง คณะการประมงศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - พนักงานบริษัท ซี เค เพาเวอร์ (มหาชน) ประจำประเทศลาว
นายสหรัฐ เกื้อกิจ
– จังหวัดสมุทรสาคร
– ปริญญาตรี สาขาประมง คณะการประมงศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– พนักงานบริษัท ซี เค เพาเวอร์ (มหาชน) ประจำประเทศลาว

สหรัฐเพิ่งจบการศึกษาจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อกลางปี 2558

ทันที ที่เรียนจบ เขาสมัครเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว รับผิดชอบด้านการอพยพปลาในแม่น้ำโขง

“ผมเริ่มรับทุนจากมูลนิธิบางกอก โพสต์ ตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน แต่เรียนดี อาจารย์จึงแนะนำให้เขียนบทความส่งเข้ามาขอทุนตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6”

ชีวิตในวัยเด็กของสหรัฐลำบากพอสมควร พ่อเสียชีวิตตอนเขาอายุเพียง 7 ขวบ เขาอยู่กับแม่ พ่อเลี้ยง และน้องอีก3คน

แม่ ต้องลาออกจากการทำงานโรงงานเพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ พ่อเลี้ยงต้องทำงานหนัก จึงทำให้เขามุ่งมั่นตั้งใจเรียนหนังสือให้จบระดับสูง เพื่อจะได้มีโอกาสเข้ามาช่วยดูแลครอบครัว

เงินที่ได้จากมูลนิธิถูกใช ใน้ด้านการเรียน ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักกีฬาตะกร้อควบคู่ไปด้วย ทำให้พอมีรายได้จากเบี้ยเลี้ยงการแข่งขันมาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำ วัน ช่วงปิดเทอม เขารับจ้างแกะกุ้งหรือเป็นยาม มีรายได้วันละ 300 บาทมาช่วยเหลือทางบ้าน

สหรัฐตั้งเป้าตั้งแต่แรกว่าอยากเรียนสาขาเกษตร เพราะสมัยเด็กๆจะถูกปลูกฝังมาจากตา ซึ่งมีอาชีพหาปลา อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับการปลูกฝังสมัยอยู่โรงเรียนประถม ซึ่งเน้นชีวิตแบบพอเพียง หาเลี้ยงตัวเอง ลดการพึ่งพาครอบครัว

ปัจจุบัน สหรัฐช่วยรับภาระค่าเล่าเรียนของน้อง หลังจากส่งน้องให้เรียนจนจบ เขาจะทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดินสักผืน เพื่อทำการเกษตรปลูกผัก ให้พ่อได้ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่สบายขึ้น

“เป้าหมายของชีวิตคือ สามารถดูแลครอบครัว และช่วยเหลือสังคมตามกำลังความสามารถ ทุกวันนี้ผมใช้ความรู้ที่เรียนมา ไปพัฒนาการเกษตรให้กับชุมชน ขอบคุณมูลนิธิ บางกอกโพสต์ ที่ให้โอกาสและคอยติดตามดูแลเอาใจใส่อย่างดี จนได้รับทุนเรียนต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี”


นายสุรสิทธ์ งามจิตร: ความรู้มีไว้ให้ส่งต่อ

สุรสิทธ์มาจากครอบครัวใหญ่ฐานะยากจน เริ่มหารายได้ตั้งแต่เด็กตั้งแต่ช่วยขายปาท่องโก๋ไปจนถึงชีวิตเด็กปั๊ม วันนี้เขาได้เป็นครูที่ใฝ่ฝัน เพื่อเอาประสบการณ์มี่ผ่านมาช่วยเหลือเด็กอื่นๆเพื่อให้ได้มีอนาคตที่ดีกว่า

นายสุรสิทธ์ งามจิตร - จังหวัดระนอง - ปริญญาตรี คณะศึกษศาสตร์ (ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยรามคำแหง - ครูภาษาไทย โรงเรียนบางกอกวิทยา
นายสุรสิทธ์ งามจิตร
– จังหวัดระนอง
– ปริญญาตรี คณะศึกษศาสตร์ (ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– ครูภาษาไทย โรงเรียนบางกอกวิทยา

“ช่วง ที่เกิดสึนามิ ผมอายุ 16 ปี ทั้งหมู่บ้านและโรงเรียนได้รับผลกระทบอย่างมาก โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเกือบ 1 เดือน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิบางกอกโพสต์ได้เข้ามาที่โรงเรียนและสอบถามว่า มีเด็กคนใดที่ยากจน แต่อยากจะเรียนหนังสือ ซึ่งคุณครูแนะแนวได้เสนอชื่อผมไป และผมก็ได้รับทุน

“ครูสอนผมว่า เมื่อได้รับโอกาสตรงนี้แล้ว อยากให้ผมนำสิ่งดีๆที่มูลนิธิมอบมา ส่งต่อให้กับคนอื่นๆต่อไปในอนาคต”

สุ รสิทธ์ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่4 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่6 เมื่อเรียนจบ เขาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ เพื่อจะได้เก็บเงินเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

เมื่อทำงานครบหนึ่งปี สุรสิทธ์สมัครเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และติดต่อขอรับทุนอีกครั้งหนึ่งจากมูลนิธิ

“ความช่วยเหลือของมูลนิธิทำให้ผมเรียนจบปริญญา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเรียน”

ขณะนี้สุรสิทธิ์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสอนภาษาไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการ

“การ ให้โอกาสคนผมถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก และผมก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ได้อย่างที่มูลนิธิหวัง เมื่อผมได้พบกับเด็กที่มีลักษณะเช่นเดียวกับผมเมื่อตอนเด็ก ผมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ เพราะผมเข้าใจในความรู้สึกนั้น

“โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเมื่อผมอยู่ในสถานะครู ผมจะพยายามทำความรู้จักกับนักเรียนทุกคน หากมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือเด็กและครอบครัวของพวกเขาได้ ซึ่งอาจไม่มากในขณะนี้ แต่ผมก็จะทำทันที”

สุรสิทธ์กล่าวว่าการศึกษาจะ ช่วยให้เด็กอยู่ในแนวทางที่ดี มีพัฒนาการทางความคิด คิดที่จะพัฒนาตัวเองสู่การพัฒนาที่ดีกว่าในอนาคต ถ้าเด็กเป็นเด็กดี สังคมก็จะดี ประเทศชาติย่อมเจริญ


นายอนุสรณ์ ปิ่นสุวรรณ: ได้รับโอกาสเพื่อสร้างโอกาส

วิศวกรหนุ่มจากจังหวัดตากไม่เคยลืม ความสำคัญของการเรียนรู้ และสิ่งที่อนุสรณ์ภูมิใจที่สุดเวลานี้ นั่นคือ การหยิบยื่นโอกาสแบบที่เขาเคยได้รับให้กับคนอื่นๆอีกมากมาย

นายอนุสรณ์ ปิ่นสุวรรณ - จังหวัดตาก - ปริญญาตรี สาขาวิศวโยธา สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ - วิศวกรโยธา การประปาส่วนภูมิภาค ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายอนุสรณ์ ปิ่นสุวรรณ
– จังหวัดตาก
– ปริญญาตรี สาขาวิศวโยธา สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
– วิศวกรโยธา การประปาส่วนภูมิภาค ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อนุสรณ์ ได้รับทุนจากมูลนิธิบางกอกโพสต์ เมื่อ15ปีที่แล้ว ขณะเรียนอยู่ชั้นปวส.ปีที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตตาก เนื่องเพราะมีความมุ่งมั่นในการศึกษา แต่ครอบครัวมีรายได้น้อย

อนุสรณ์ ตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวอย่างมาก

ปัจจุบันอนุสรณ์เป็นนายช่างวิศวกรรมของการประปาส่วนภูมิภาค ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อนุสรณ์ กล่าวถึงมูลนิธิบางกอกโพสต์ว่า ตนเองขอขอบคุณมูลนิธิที่คัดเลือกให้ได้รับทุน มิฉะนั้นตนเองก็คงไม่มีโอกาสมายืน ณ จุดนี้ เงินทุนที่ได้ส่วนใหญ่ตนเองใช้เป็นค่าหนังสือเรียน ค่าเล่าเรียน และอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนมากที่สุด

“สิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจมาก คือผมได้มีโอกาสทำงานรับใช้สังคมทั้งระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ซึ่งต้องดูแลเรื่องน้ำประปาให้กับประชาชนในจังหวัดต่างๆ ถึง74จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ผมจัดตั้งกลุ่มเพื่อนๆที่มีความรู้ด้านต่างๆ ออกไปช่วยเหลือโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นห่างไกล โดยการก่อสร้างทางเดินเท้าในโรงเรียน และสนับสนุนทุนการศึกษาซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ให้กับเด็กที่ยากไร้และขาดทุนทรัพย์ในการเรียน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนเช่นเดียวกับผม”

“ผมคิดว่าทุนของ มูลนิธิบางกอกโพสต์มีส่วนช่วยขยายโอกาสให้กับเด็กที่ไม่มีเงินเรียนได้เรียน ได้ช่วยสานฝันของเด็กให้เป็นจริงและยังช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพด้านการศึกษา”


แพทย์หญิง วาริน: สิ่งที่ไม่เคยลืม

ลูกชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกก้าวไกลจนได้เป็น ศัลยแพทย์ เผชิญความลำบากมามากมาย แต่เมื่อมาถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ เธอยังทำอีกสิ่งที่ฝันไว้ นั่นคือการกลับไปช่วยเหลือชุมชนที่ตัวเองเกิดมา

แพทย์หญิง วาริน อยู่ยังเกตุ - จังหวัดพิษณุโลก - แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร - ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระพุทธชินราช
แพทย์หญิง วาริน อยู่ยังเกตุ
– จังหวัดพิษณุโลก
– แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
– ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระพุทธชินราช

“คน เราไม่สามารถเลือกที่จะเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะทำงานหนักเพื่อพัฒนาตัวเราเราควรตั้งเป้าหมายในชีวิต และปฏิบัติตามนั้น เมื่อไรที่เกิดเหนื่อยและท้อแท้ เราควรนึกถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในชีวิตของเรา” แพทย์หญิงวัย 37 ปี กล่าว

หลัง จากเรียนจบมัธยมปลาย วารินซึ่งเป็นลูกสาวของครอบครัวชาวนาในอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อเธอสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ แต่ครอบครัวไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนให้เธอ ทางมูลนิธิบางกอกโพสต์ได้ทราบถึงปัญหา จึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยเสนอให้ทุนการศึกษา

หลังจากผ่านการเรียนอย่างหนักเป็นเวลา 6 ปี วารินก็ได้เป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิต และเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลประจำอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อวา รินตัดสินใจที่จะเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาท เธอขอทุนไปยังโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และใช้เงินส่วนตัวที่สะสมจากเงินเดือน เพื่อเรียนต่อด้านนี้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ปัจจุบันวารินเป็นประสาท ศัลยแพทย์ ที่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช ในขณะเดียวกันก็ได้นำความรู้ไปช่วยสอนนักศึกษาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

“ทุก สิ่งทุกอย่างได้เข้าที่เข้าทางของมันแล้ว หลังจากดิฉันเรียนจบแพทย์ ก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ ท่านไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องขุดดิน ดายหญ้าอีกต่อไป

“เมื่อคิดว่าดิฉันเริ่มต้นจากศูนย์ ดิฉันก็พอใจในชีวิตปัจจุบัน ถึงแม้ว่าดิฉันจะไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็สบายพอสมควร ดิฉันเป็นคนพิษณุโลก จึงไม่เคยคิดที่จะย้ายไปที่อื่น รู้สึกดีใจและเป็นสุขใจที่ได้ช่วยรักษาคนจนที่เจ็บป่วยที่บ้านเกิด”

พ.ญ.วารินขอฝากความมายังผู้รับทุนการศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคตว่า

“ทุก คนควรพร้อมที่จะเผชิญความลำบาก มุ่งมั่นในเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และเมื่อก้าวถึงจุดหมาย ก็อย่าลืมที่จะกลับไปช่วยเหลือชุมชนที่ตนเกิดมา”